วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

Momentum (Monthly Rotational System) part 1

Downtrend นี้ช่างยืดเยื้อ เอางานที่เคยวิจัยมาเขียน จริงๆเขียนไว้นานแล้ว ว่าจะลงๆ ก็ไม่ได้ลงซะที  ช่วงเงียบเหงาแบบนี้แหละ ^ ^  มาดูทฤษฎีที่น่าสนใจกันดีกว่า เก่าแก่ แต่ก็ยังเก๋าเกม  เห็นเราโพส review of the month ที่ดูๆไปอาจจะไม่มีอะไรหวือหวา บางคนอาจจะคิดว่ามันใช้ประโยชน์อะไรไม่เห็นได้เลย   เราเลยขอแชร์ความรู้ ที่มาที่ไปว่าทำไมเรามานั่งดูทุกเดือน และให้ความสำคัญกับ ROC (Rate of Change) ที่มาของตารางเรียงอันดับหุ้นแค่รูปเดียวต่อเดือน  แต่เบื้องหลังนั้นลึกซึ้ง

Monthly Rotational System


Momentum แปลพจนานุกรม = แรงผลักดัน แรงกระตุ้น 
ในทางฟิสิกส์นั้นอธิบายถึงปริมาณการเคลื่อนที่ของวัตถุหรือระบบ วัดได้จากมวลของวัตถุกับความเร็วของมัน 
จริงๆมันไม่มีอะไรมากเลย มันเป็นแค่หน่วยวัดหนึ่งเท่านั้นเอง เวลาวัตถุเคลื่อนที่ก็จะมีระยะเป็นตัวบอกระยะทางใกล้ไกลเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ แต่ในมิติของหุ้นนั้น ระยะก็คือปริมาณที่ราคานั้นขึ้นหรือลง แล้วก็มีคาบเวลาติดมาเสมอ หมายความว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไปเราสามารถจะวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ 2 จุดอ้างอิงใดๆ  ในทางกลับกัน เรื่องของฟิสิกส์ มันก็คือความเร็วนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น
หุ้นราคา 2.50 บาท วันต่อมาขึ้นมาเป็น 2.55 บาท แสดงว่า 1 วันผ่านไปปริมาณราคา ขึ้น/บวก 0.05 บาท แปลความได้ว่า หุ้นตัวนี้มีความเร็ว +0.05 บาท/1 วัน [ต้องกำหนดเครื่องหมายด้วย เนื่องจากเป็นปริมาณทาง vector ต้องมีทิศทาง]

มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง หุ้นราคา 5.00 บาท ผ่านไป 1 เดือน (~20 วันที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดการซื้อขาย) ราคาเป็น 4.00 บาท แสดงว่า 20 วันผ่านไปราคา ลง/ลบ 1.00 บาท แปลความได้ว่าหุ้นตัวนี้มีความเร็ว -1.00 บาท/20 วัน  เท่ากับ -0.05 บาท/1วัน

สรุปได้ว่าจริงๆการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของทั้ง 2 หุ้นนี้เท่ากันแต่ทิศทางต่างกันเท่านั้นเอง

ปล. นี่เป็นตัวอย่างที่คำนวนอย่างง่ายสุดเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จริงๆแล้วการขึ้นลงของราคาหุ้นจะใช้วิธีการลบแล้วหารแบบง่ายนี้ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมเท่าไหร่ วิธีการวันระยะของการเคลื่อนที่ของราคาจริงๆนั้นต้องใช้หลักการ “Periodic return” หรือ Continuous Compounding ที่จะใช้ logarithm คิดเป็นสัดส่วนแทน เนื่องจากในทาง finance “ราคา” เป็นอัตราทบต้น เรามักจะใช้คำว่าเติบโตหรือ หดตัวเนื่องจากโลกทางการเงินเราดูที่อัตราส่วน %” เป็นหลัก ไม่ใช่ปริมาณเพียงอย่างเดียว หรือ ราคานั้นเติบโตแบบอัตราทบต้นนั่นเอง

ทีนี้ก่อนเราจะเข้าเรื่องกัน ผมอยากให้ลืมหลักการต่างๆไปให้หมดก่อน แล้วก็ค่อยๆคิดตามนะครับ

การซื้อหุ้น เป้าหมายของทุกคนนั้นแทบจะเรียกว่าเหมือนกันหมดทั้ง 100 % ไม่ว่าจะซื้อกินปันผลอย่างเดียวหรือไม่ก็ตาม มันจะกลับมาที่พื้นฐาน คือ เราซื้อหุ้นแล้วต้องการให้หุ้นขึ้น แค่ หุ้นขึ้นได้กำไร มันเท่านี้เอง ไม่ว่ามันจะเป็นหลักการลงทุนใดๆในโลกนี้ มันก็แค่ทิศทางที่ได้กำไรเท่านั้นแหละ
ผมถามว่าถ้าเป็นไปได้เราจะซื้อหุ้นแบบไหน ....== แน่นอนอยู่แล้ว ถ้ามีหุ้นทั้งตลาด 600 ตัว เราย่อมต้องการหุ้นที่ขึ้นแค่นั้น! ถูกไหมครับ เพียงแต่มันดันมีหุ้นเยอะเกิน ก็จะต้องมาเลือกและเปรียบเทียบกันก่อน... หุ้นขึ้นเนี่ย มันก็ขึ้นเป็นร้อยๆตัวต่อวัน เมื่อมันดันมีตัวเปรียบเทียบ เราก็ต้องซื้อหุ้นที่ขึ้นแล้วเรายังต้องการอัตราการเคลื่อนที่ขึ้นที่เร็วที่สุดด้วย จะได้กำไรทันที และได้เยอะด้วย จริงไหมครับ

ไม่ต้องมีความรู้อย่างอื่น เราเพียงแต่ลองใช้สูตรอย่างง่ายข้างต้นมาคำนวน ซึ่งเราต้องการเพียงราคา ณ ตำแหน่งใดๆของ 2 จุดของเวลา( 1 คาบ) กี่วันกี่แท่งก็ว่ากันไป หาความเร็วในการเปลี่ยนแปลงราคาที่เป็นบวกเยอะที่สุด ง่ายๆแค่นี้ เราก็จะรู้แล้วว่าหุ้นในตลาด 600 ตัว ตัวไหนวิ่งไวที่สุด จับมาเรียงกัน  เราแค่ต้องเลือกตัวที่วิ่งไวที่สุด ....

แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้น => อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่คำนวนได้นั้น ต้องนำราคาที่เกิดขึ้นก่อนแล้วในอดีต => แล้วเราจะรู้ได้ยังไง? => เราดันมาซื้อตอนที่ราคามันขึ้นไปแล้วนะ? =>  เราจะมั่นใจได้ยังไงว่า ราคาจะขึ้นต่อไปตามที่เราคำนวนไว้? => แล้วมันจะยังคงวิ่งไปในอนาคตทิศทางเดียวกับ อดีต”? => มันเป็นไปได้ยังไง ?

แล้วนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ ทฤษฎี Momentum อันเป็น premiere market anomaly ที่ถูกพิสูจน์มานับร้อยปี และมันก็ยังคงอยู่ บางงานวิจัยยังบอกด้วยว่า มันอาจจะเป็น anomaly สุดท้ายที่ยังคงประสิทธิภาพอยู่

Momentum หลักการง่ายๆที่ฟังกันจนเบื่อคือ หุ้นที่ขึ้นอยู่มันก็ยังคงทิศทางขึ้นต่อไป หุ้นที่ลงอยู่มันก็ยังคงทิศทางลงต่อไป

เรามาลองพิสูจน์ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ต้องมี indicator ไม่ต้องมีตัวแปรอะไรเลย โดยซื้อทุกวันที่ 1 ของเดือน ถือแล้วขายในวันสุดท้ายของเดือน เริ่มต้นเดือนใหม่ก็เหมือนเดิม ซื้อวันที่ 1 ขายสิ้นเดือน ทำแบบนี้ไปทุกเดือน โดยเลือกหุ้นจากวิธีการง่ายๆ เรียงลำดับราคาหุ้นที่ขึ้นไปเยอะที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา แล้วไล่ซื้อตั้งแต่ตัวที่ 1 (ราคาบวกเยอะที่สุดใน 1 เดือนที่ผ่านมา) ตัวละ 5% ของเงินทุนเรา (มันก็จะได้ราวๆ 20 ตัว +-)

กำหนดให้
-เงินทุนเริ่มตั้น 1 ล้านบาท
-ซื้อตัวละ 5 %ของเงินทุน ณ เวลานั้น (ได้กำไรมาก็ทบต้นไป ขาดทุนก็เสียไป ไม่มีการถอนออก ไม่มีการเติมเงินเพิ่ม ไม่มีปันผล มีมากเท่าไหร่ เหลือน้อยเท่าไหร่ ก็เล่นตาม %)
-จำกัดปริมาณหุ้นที่จะซื้อ โดยซื้อได้ไม่เกิน 10% ของ volume ของหุ้นตัวที่จะซื้อ ในวันก่อนหน้าที่จะซื้อ(หรือวันสิ้นเดือนสำหรับบทความนี้) ถ้าไม่เกินก็ซื้อตาม 5% ของเงินทุน ถ้าเกินก็ซื้อ 10% ของ volume ที่เหลือเอาไปซื้อตัวถัดๆไป
-ค่า commission 0.25% ต่อคำสั่ง
-ซื้อราคา open ของวันที่ 1 ของทุกเดือน
-ขายราคา close ของวันทำการวันสุดท้ายของเดือน
-Test ตั้งแต่วันที่ 1 ปี 1990 จนถึงวันที่ 1 ปี 2015 เป็นเวลา 25 ปี


เรามาดูผลในแบบที่ไม่ได้ปรับตัวแปรใดๆ 




เราจะเห็นว่า เริ่มต้นลงทุน 1 ล้านบาท 25 ปีผ่านไป จะโตเป็นเงิน 158.9 ล้านบาท (หักค่า comแล้ว 21.4 ล้านบาท)

มีอัตราทบต้นที่ 22.47% ต่อปี 
MaxDrawdown เงินทุนตกต่ำสุดที่ -73.73%

โดยซื้อ-ขายหุ้น 10516 ครั้ง คิดเป็นจำนวนหุ้นที่กำไร 46.55% และ หุ้นที่ขายขาดทุน 53.45% (ราวๆครึ่งๆ)

สรุปง่ายๆคือ เราค้นพบความเป็นไปได้ของทฤษฎีนี้ 25 ปี มันสามารถพาเรามาถึงจุดนี้ได้ ด้วยวิธีที่แสนง่ายดาย ไม่ต้องใช้การวิเคราะห์ใดๆเลย นั่นแสดงว่าช่องโหว่ของการทำกำไรด้วยวิธีนี้นั้นมีความเป็นไปได้   แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งของหุ้นที่ซื้อขายกันกว่า 10000 ครั้ง ที่ราคาจะขึ้นต่อไปตามทฤษฎี เห็นแล้วก็บอกได้ว่ามันไม่ใช่การทำนายที่ดี พอๆกับโยนเหรียญหัวก้อย  แต่สิ่งที่แปลกคือ อัตราส่วน payoff นั้น เฉลี่ยการขึ้นของราคา นั้นมากกว่า เฉลี่ยการลงของราคาหุ้น อยู่ถึง 1.77 เท่า คือต่อให้เดาผิด ก็จะขายขาดทุนไม่เท่าไหร่(เฉลี่ย -12.28%)  ในขณะที่กำไรก็จะได้มากกว่า (เฉลี่ย +20.92%)

ถามว่าทำไม? ทำไมมันเป็นแบบนี้? ไม่รู้เหมือนกัน  ไม่รู้ทำไม ....มันคือความผิดปกติของตลาด มันคือช่องโหว่ หรือ anomaly ที่ทำให้พวกเรายังกำไรได้ ด้วยวิธีบ้านๆนี้... ถ้ามันไม่มี payoff ตรงนี้แล้วหละ ก็จะตอบได้แค่ ทฤษฎี momentum มันก็จะอวสานไป แค่นั้น เราก็ไม่อาจทำกำไรได้อีกต่อไปจากวิธีนี้

เดี๋ยวเราจะมาประยุกติ์กันต่อใน part 2 เพื่อให้มันสมจริงยิ่งขึ้น และปลอดภัยในทางจิตวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น